วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553


ปัญญา

ปัญญา แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย

ปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ

  1. โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา)
  2. โดยการคิดค้น การตรึกตรอง (จินตามยปัญญา)
  3. โดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา (ภาวนามยปัญญา)

ปัญญา ที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา

วิชชา ก็แปลว่า ความรู้ เช่นกัน เมื่อเติม"อธิ"เข้าไป เป็น"อธิปัญญา" ก็คือ ความรอบรู้ หรือรู้ยิ่ง อธิ แปลว่า ยิ่ง ซึ่งก็เป็น สัมมาญาณ นั่นเอง เพราะเป็นความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติตามทฤษฎี"มรรค องค์ ๘" และรู้แจ้ง เห็นจริงในประดาสภาวธรรมทั้งหลายมาตลอดนั่นแล คงไม่มีใครจะตะแบงแย้งได้

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติที่สัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติไตรสิกขา หรือปฏิบัติตามมรรค องค์ ๘ ก็ย่อมเกิด..สัมมาสมาธิ และ สัมมาญาณ สัมมาวิมุติ เพราะใน ขณะ ปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะขณะที่มี"ปริญญา ๓" ซึ่งได้แก่ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา นั่นคือ เรากำลัง ปฏิบัติ "ฌาน" อยู่นั่นเอง และในขณะปฏิบัติ "ฌาน" อยู่นั่นแหละ จิตต้องมี"ปริญญา ๓"นี้ทำงานอยู่อย่างสำคัญ จึงจะสำเร็จผล ในความเป็น "ฌาน" คือ "เพ่ง-เผา" ได้สำเร็จ ไม่มี"ปริญญา ๓"ไม่ได้ ถ้าไม่มี ก็คือ ไม่ใช่การปฏิบัติ "ฌาน" แบบพุทธ นั่นเอง เพราะเท่ากับ ไม่มี "อธิปัญญา"

การปฏิบัติ"ฌาน" ก็คือ การจับอารมณ์ตนที่กำลังเป็นอยู่ขณะนั้นได้ชัดเจนครบครัน (ญาตปริญญา) แล้วเพ่งพิจารณา ไตร่ตรอง ตัดสินภาวะนั้นๆ จนรู้ว่าอะไรคือกิเลสคือสมุทัย (สำเร็จตีรณปริญญา) และ กำจัดเหตุนั้น หรือเผากิเลสนั้น (สำเร็จปหานปริญญา) ซึ่ง"ฌาน" จะสำเร็จได้ก็ต้องมี "ปริญญา ๓" หรือ ความรู้ยิ่ง เห็นจริงในภาวะที่ตนปฏิบัติอยู่ตลอด นี่คือ "อธิปัญญาสิกขา"

ปริญญา ๓ ก็คือ ปัญญา คือ การกำหนดรู้ ก็เป็นความรู้ อีกหนะแหละ ซึ่งก็อันเดียวกันกับ "อธิปัญญา"

สรุปแล้ว หากไม่มีปัญญา ก็ไม่ชื่อว่า "วิชชา" และ"ปัญญา"ที่เราหมายถึงที่แท้นี้ เป็น "ปัญญา หรือ ความรอบรู้" ที่เป็น "ความรู้ในปรมัตถธรรม" ทั้งสิ้น ถ้า "ไม่รู้" (อวิชชา) ตั้งแต่ "ฌาน" เป็นต้นไป นั่นก็ หมายความว่า ไม่มี "วิปัสสนาญาณ" แท้ๆกันเท่านั้น

"ฌาน" แบบพุทธ จึงเป็น..อาการของจิตที่เราพากเพียรปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสให้หมดไปจากจิต เมื่อสามารถลด หรือกำจัด(ปหาน) ลงไปได้เรื่อยๆ ถูกตัวตนของ "เหตุแท้" อย่างมี "ปัญญา" รู้จักรู้แจ้งรู้จริง ก็คือ มีฌานสูงขึ้นๆไปตามลำดับ ๑-๒-๓-๔ จนเป็นอรูป-ฌาน ๑-๒-๓-๔ จนที่สุดเป็น "สัญญาเวทยิตนิโรธ"

ผู้ปฏิบัติที่มี "สัมมัตตะ ๑๐ หรือ อเสขธรรม ๑๐" ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมา กัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ สัมมาวิมุติ อันเป็น "ความมี มรรคผลที่ถูกต้อง" ของศาสนาพุทธ หากไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" แต่ต้น ซึ่งเป็นประธาน ก็เป็น "มิจฉัตตะ ๑๐" คือ ผิดไปทั้งหมดเป็น "มิจฉา" ไปทั้ง ๑๐

ดังนั้น จึงจะต้องมี"ปัญญา" หรือมี"วิชชา" หมายความว่า ต้องมีความรู้หรือปัญญา รู้ติดรู้ตามมาตลอด ทั้งมรรค ทั้งผล ที่ตนปฏิบัติ และต้องมี "ปัจจเวกขณญาณ" คือ มีการทบทวน สำรวจตรวจสอบ หยั่งรู้ ติดตาม มาตลอดสายของมรรคผล ที่เราปฏิบัติอีกด้วย

ถ้าแม้แต่"ฌาน" ก็ไม่สามารถรู้แจ้งเข้าใจได้อย่างชัดเจน "ถูกต้อง-ถูกถ้วน" (สัมมา) ตั้งแต่ "สัมมาทิฏฐิ" มาตลอดสาย แห่งมรรคและผล เป็นปฏิสัมพัทธ์กันมาอย่างไร ผู้นั้นจะไม่สามารถปฏิญาณตนเอง ได้จริง เลยว่า ตนเข้าเขตโสดาปัตติมรรคแล้ว ได้โสดาปัตติผลแล้ว และเป็นสกทาคามีมรรค ไปเรื่อย... กระทั่ง อรหัตมรรค และ อรหัตผล อย่างรู้แจ้งเห็นจริง ด้วย "อธิปัญญาหรือวิชชา" เป็นแน่นอน จะเรียกว่า รู้แจ้ง เห็นจริงเป็น "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" ย่อมไม่ได้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน จะต้องรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนของตนเอง ตามสภาวะ จริงในตน จึงจะถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ"

ผู้ปฏิบัติ"ไตรสิกขา" อย่างสัมมาทิฏฐิ ย่อมเกิด "อธิปัญญาสิกขา" และเจริญเป็น "วิชชา ๙" ไม่ขาดหกตกหล่น เพียงแต่ว่า ใครจะมีมากมีน้อย และมีเชิงใดเด่น เชิงใดด้อยบ้าง ก็เท่านั้น แต่มิใช่ว่า ไม่มี "วิชชา ๙" หรือ ไม่เจริญด้วย "อธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญา" ครบครัน

โดยเฉพาะ "ปัญญา" หรือ "ความรู้" นั้น เป็นความสำคัญยิ่งสำหรับศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธชื่อว่า เป็นศาสนาแห่งปัญญา มี"ปัญญา"นำ และสมบูรณ์ด้วย"ปัญญา" พุทธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีอะไร หม่นหมองมัวพราง ทุกอย่างต้อง "รู้แจ้งเห็นจริง" ทุกอย่างต้องชัดเจนแจ่มแจ้งแทงทะลุรอบถ้วน นั่นคือ ต้องสมบูรณ์ด้วย "ปัญญาอันยิ่ง" (อธิปัญญา) ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ธรรมะของพุทธนั้น ผู้บรรลุ ย่อมเห็นเอง รู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตน ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น จึงจะตรงตามความหมายของสันทิฏฐิโก เมื่อมี "ความรู้" อยู่พร้อมเช่นนี้ ก็นั่นแหละคือ ผู้ปฏิบัติต้องมี "ปัญญา" จึงจะรู้จึงจะประจักษ์แจ้งกับตน และพระพุทธเจ้า ทรงกำชับอีกว่า พึงรู้เฉพาะตน ต้องรู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนของตนเอง ...ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ มิใช่ศาสนา ที่ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งไม่รู้ ยิ่งลึกลับ หรือรู้บ้างไม่รู้บ้าง แม้ไม่รู้ก็บรรลุได้ รู้กะพล่องกะแพล่ง ไม่บริบูรณ์ อะไรอย่างนั้น เป็นอันขาด

เฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงสภาพที่เป็น "ทางปฏิบัติอันประเสริฐ" ที่เรียกว่า "อาริยมรรค" รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง สภาพที่เป็น "กิเลส" รู้จักรู้แจ้งรู้จริงสภาพที่เป็น "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งต้องอาศัย "ปัญญา" ทั้งนั้นที่จะรู้จักรู้แจ้งรู้จริงด้วยตนเอง มิใช่เดาเอา มิใช่อนุมานเอา และมิใช่อาจารย์ หรือคนอื่นเป็น "ผู้สอบญาณให้เรา" อาจารย์จะเป็นผู้แจ้งให้เรารู้ว่า "เราบรรลุญาณนั้นญาณนี้แล้ว" ตามที่มีผู้เข้าใจผิด เพี้ยนออกนอกคำสอน ของพระพุทธเจ้า เป็นอันขาด

ไม่ว่า..ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุตญาณทัสสนะ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงด้วยตนเองทั้งสิ้น แม้ผู้ปฏิบัติ จะไม่รู้อย่างคนมี "ปฏิสัมภิทา" (ปัญญาที่แตกฉาน) ก็ต้องมี "วิชชา ๙" รู้สภาวธรรมของตน ตามธรรม สมควรแก่ธรรมทุกคน ต้อง "พ้นวิจิกิจฉาสังโยชน์" หรือ พ้นความสงสัยในพุทธ-ธรรม-สงฆ์ โดยเฉพาะ "ธรรม" ที่มีสภาวะ

ดังนั้น สภาวธรรมของการปฏิบัติศีล จนเกิดฌาน เกิดสมาธิ เกิดวิมุติ ต้องประกอบด้วย"ปัญญา"ทั้งสิ้น



สมาธิ

สมาธิ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต แต่สมาธิในความหมายของการฝึกปฏิบัติ คือการทำใจให้นิ่ง ซึ่งต่างจากร่างกายที่ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งแข็งแรง แต่จิตใจนั้นตรงกันข้าม คือจิตใจหวั่นไหวย่อมอ่อนแอ แต่หากหยุดนิ่งเฉยได้แล้วจะยิ่งมีพลัง เหมือนการรวมโฟกัสของแสงให้เป็นจุดเดียวกัน ย่อมมีพลังที่จะจุดไฟให้ติดได้

การทำสมาธิมีปรากฏในหลายศาสนา ซึ่งรวมถึง พุทธศาสนา ฮินดู และ เต๋า และยังคงรวมถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น โยคะ


ระดับของสมาธิในพุทธศาสนา

  1. ขณิกสมาธิ สมาธิค่อยๆ เล็กน้อย ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นใช้อ่านหนังสือ หรือขับรถ
  2. อุปจารสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่มากกว่าขณิกสมาธิ แต่แน่วแน่น้อยกว่าอัปปนาสมาธิ
  3. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิระดับฌานสมาบัติ ปฐมฌาณขึ้นไป


การทำสมาธิในพุทธศาสนา

การทำสมาธิ ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ถึง 40 วิธี ทุกวิธีล้วนเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียว คือการทำให้จิตใจสงบแต่ที่วิธีการมีเยอะนั้น ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สมถกรรมฐาน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นฐานนิสัยของแต่ละคน โดยพระพุทธองค์ทรงแบ่งพื้นฐานนิสัยไว้ 6 ประเภท เรียกว่า จริต 6 อาทิเช่น คนที่มีราคะจริต คือหลงไหลในของสวยงามง่าย ควรพิจารณาความไม่งาม (อสุภะ) ความไม่เที่ยง- ความไม่แน่นอนในสังขารต่างๆ (อนิจจัง) เพื่อให้ใจไม่ติดในราคะได้ง่ายจะได้ทำสมาธิได้ง่าย เพราะเมื่อหลับตาทำสมาธิแล้ว ใจเราชอบอะไร คุ้นอะไร ก็จะมีภาพนั้นปรากฏขึ้นมาในใจ

การทำสมาธิ ไม่ต้องคอยให้ใจสงบ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ถ้าต้องการความต่อเนื่องยาวนาน และให้ได้ผลการปฏิบัติที่ดีนั้น มีหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนดังนี้

  1. อาบน้ำ ให้เรียบร้อย เตรียมร่างกายให้สะอาด
  2. หามุมสงบ ไม่เสียงดัง ไม่อึกทึก ไม่มีการรบกวนจากภายนอกได้ง่าย มีอุณหภูมิพอดีๆ
  3. นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวกที่อื่นๆ จะเป็นที่หน้าตักก็ได้
  4. หลับตาเบาๆ ให้ขนตาชนกัน แต่อย่าเม้มตา
  5. ขยับท่าทางให้รู้สึกว่าสบาย
  6. สังเกตตัวเองว่ามีการเกร็งไหม ถ้ายังมีให้ทำข้อ 5 ใหม่
  7. เมื่อสบายดีแล้ว ให้ภาวนาในใจ
  8. จะใช้คำบริกรรมว่า ว่า พุท เมื่อหายใจออกให้กำหนดว่า โธ ก็ได้ หรือจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ เช่น สัมมา-อรหัง นะมะ-พะธะ ก็ได้เช่นกัน (วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการของโบราณจารย์)
  9. จะใช้ความรู้สึกจับกับลมหายใจ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้
  10. ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบา สบาย
  11. ในระหว่างการปฏิบัติธรรม จะมีเรื่องฟุ้งซ่านเข้ามาเป็นระยะ อย่าสนใจ เมื่อได้สติ ก็ทำข้อ 7 8 9 ใหม่
  12. เมื่อใจเริ่มสงบดีแล้ว จะมีความรู้สึกแปลกๆ ก็ให้ทำเฉยๆไปเรื่อยๆ
  13. บางทีคำภาวนาจะหายไป ก็ไม่เป็นไร ให้ทำใจเฉยๆไปเรื่อยๆ
  14. เมื่อใจนิ่งได้ระดับนึง จะเริ่มเห็นความสว่างจากภายใน เป็นการเห็นด้วยใจ ก็ให้ทำใจเฉยๆต่อไป
  15. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือสงสัยอะไร ให้ทำใจเฉยๆอย่างเดียว
  16. หากมีข้อสงสัย หรือมีคำถาม หรือมีภาพ มีสิ่งผิดปกติ ให้ทำตามข้อ 14

ข้อแนะนำ คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง


การเพ่งกสิณเพื่อการทำสมาธิภาวนา

แม้แนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาจะมีอยู่ด้วยกันหลายแนวทาง แต่การที่จิตจะเข้าสู่สมาธิได้นั้นจิตจำเป็นจะต้องมีเครื่องรู้ (อุบายกรรมฐาน) [1]เพื่อให้จิตใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่สมาธิ ซึ่งอุบายกรรมฐานก็มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่สิบกองและอีกสี่อุบายวิธี แต่ละอุบายวิธี ตางมีความสำคัญและสามารถนำไปใช้ให้เกิดผลได้จริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะถูกจริตกับกรรมฐานกองใด และหากว่าใครมีจริตตรงกับกรรมฐานกองใด ก็จะสามารถนำกรรมฐานกองนั้นไปใช้อย่างได้ผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งในเรื่องการปฏิบัติสมาธิภาวนา และเรื่องการเข้าฌานทั้งรูปฌาณและอรูปฌานได้ทรงชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการใช้อุบายกรรมฐานไว้ทั้งหมดสี่สิบกองด้วยกัน ซึ่งภายใต้กรรมฐานทั้งสี่สิบกองนั้นจะประกอบไปด้วยกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการเพ่งกสิณอยู่ถึงสิบกอง อีกทั้งการเพ่งกสิณยังเป็นกรรมฐานกองแรกๆ ของกรรมฐานทั้งหมด (เป็นอุบายวิธีต้นๆ ในการปฏิบัติกรรมฐาน) นั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงว่า การเพ่งกสิณจัดเป็นอุบายวิธีในการทำสมาธิที่มีดีอยู่ในตัวอย่างแน่นอน


สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ การ ฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่า ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติย่อมต้องการที่จะฝึกหรือปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะฝึกหรือปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว จำเป็นจะต้องทราบว่าวัตถุประสงค์ของการฝึกหรือปฏิบัติเพื่ออะไร ทั้งนี้การฝึกสมาธิในแนวทางที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธินั้น โดยความหมายทั่วไป หมายถึงการตั้งจิตมั่นชอบ ซึ่งในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสัมมาสมาธิไว้หลายแห่ง โดยได้อธิบายความหมาย ตลอดจนลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ หลายแห่งดังนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า ถึงปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอเข้าถึงทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอเข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ[2]

จาก ความที่ยกนำมากล่าวนี้ แสดงว่าสัมมาสมาธิ จะมีความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน จนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้ว จะมีสภาวะที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ และเป็นอุเบกขา จนมีสติบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกยังกล่าวถึงลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ดังนี้

  1. ลักษณะของสัมมาสมาธิคือการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน[3]
  2. สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ [4]

ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก[5] ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตที่เป็นสัมมาสมาธิว่า

สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.

จาก ลักษณะของสัมมาสมาธิที่กล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกยังแสดงให้เห็นว่า สัมมาสมาธิมีคุณูปการแก่ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติ โดยเมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านและมีความตั้งมั่นแห่งจิตแล้ว ย่อมขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสได้ ดังความในพราหมณสูตร[6]กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า

สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด. จากความข้างต้น แสดงให้ทราบว่า สัมมาสมาธิสามารถขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสและความฟุ้งซ่าน สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ ดังความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวไว้ดังนี้

สัมมา สมาธิ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสมาธิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธิและความฟุ้งซ่านนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมตั้งมั่นสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ[7]

สรุปได้ว่า การจะฝึกสมาธินั้น บุคคลจะต้องยึดหลักการฝึกแบบสัมมาสมาธิ กล่าวคือ ฝึกเพื่อการทำให้ใจสงบ ระงับจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ก็จะสามารถทำให้การฝึกและปฏิบัติของบุคคลนั้น ถูกต้อง ตรงต่อพระพุทธธรรมคำสอน จนสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย คือพระนิพพานได้ ทั้งนี้ การที่จะจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะต้องไม่คิดหรือตรึกในสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตฟุ้งซ่านว่า จะมีลักษณะที่ซัดส่ายไปข้างนอก คือซัดส่ายไปในอารมณ์ คือกามคุณ ทำให้มีความพอใจในกามคุณ 5 อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งทำให้จิตระคนปนเจือไปด้วยความตรึกไปในกาม[8]



ศีลแปด

ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน จัดเป็นศีลขั้นตำของพระอนาคามี

โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลตั้งแต่เช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า "ปกติอุโบสถ" และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า "ปฏิชาครอุโบสถ"

ศีลทั้งแปด

  1. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฆ่าสัตว์
  2. อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้
  3. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
  4. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
  5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
  6. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงถึงวันใหม่)
  7. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม
  8. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง ที่เท้าสูงเกิน ภายในมีนุ่นหรือสำลี



ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีลกับศีล 8

  1. อุโบสถศีล กับ ศีล 8 มีข้อห้าม 8 ข้อเหมือนกัน
  2. คำอาราธนา (ขอศีล) แตกต่างกัน
  3. อุโบสถศีล มีวันพระเป็นแดนเกิด สมาทานรักษาได้เฉพาะ วันพระเท่านั้น ส่วนศีล 8 สมาทานรักษาได้ทุกวัน
  4. อุโบสถศีล มีอายุ 24 ชั่วโมง (วันหนึ่งคืนหนึ่ง) ส่วนศีล 8 ไม่มีกำหนดอายุในการรักษา
  5. อุโบสถศีล เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน หรือเป็นศีล ของชาวบ้านผู้บริโภคกาม (กามโภคี) ส่วนศีล 8 เป็นศีลสำหรับ ชาวบ้านผู้ไม่ครองเรือน เช่น แม่ชี [1]


ศีล ( Morality ) คือ ความปกติและการรักษาศีลก็คือความตั้งใจรักษาปกติของตน อันเป็นหลักปฏิบัติไม่ทำให้เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นและเป็นหลักแห่งความประพฤติที่จะทำให้เกิดความสะอาดทางกายและวาจา ศีลมีหลายประเภท เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีลที่ควรกระทำเพื่อให้เกิดความปกติในสังคมก็คือ ศีล 5 เพราะสะดวกและง่ายที่จะปฏิบัติ

ศีล ๕ มีดังนี้

1. พึงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตลอดจนการประทุษร้ายผู้อื่นให้เขาได้รับความเจ็บปวดและทรมานเช่น การปล่อยให้สุนัขที่ตนเลี้ยงอดอาหารตาย การลอบวางยาพิษ การใส่สารพิษลงในอาหารและน้ำ การใช้อาวุธทำลายผู้อื่น การทรมานและสร้างความตื่นตระหนกแก่คนและสัตว์

2. พึงละเว้นจากการขโมย ฉ้อฉล ตลอดจนใช้อุบายโกงเพื่อหวังในทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น การลักเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง การนำหรือพาเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตมาเป็นของตนเอง

3. พึงละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เช่น การประพฤตินอกใจสามีหรือภรรยาของตน การประพฤติล่วงเกินในบุตรภรรยาหรือสามีของผู้อื่น ตลอดจนการทำร้ายในของรักของใคร่ของผู้อื่นเพราะคำว่ากามในที่นี้มิได้หมายเฉพาะในเรื่องกามอารมณ์เท่านั้น แต่กินความไปถึงของรักของใคร่ เช่น การที่เราตีสุนัขของเพื่อนจนตาย นอกจากจะผิดศีลข้อที่ 1 แล้วยังผิดศีลข้อที่ 3 นี้อีกด้วยเพราะสุนัขนั้นเป็นของรักของเพื่อน

4. พึงละเว้นจากการพูดเท็จ พุดส่อเสียดนินทาเพ้อเจ้อเหลวไหลพูดให้ร้ายผู้อื่น พุดเพื่อทำลายสามัคคีในหมู่คณะ พุดหยาบคาย ตลอดจนการพูดโน้มนำให้ผู้อื่นเกิดการปรุงแต่งทางกายอีกด้วย

5. พึงละเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมา ตลอดจนการทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดความมึนเมาต่อประสาท อันเป็นผลให้ร่างกายสูญเสียความปกติ เช่น กัญชา ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยาบ้า หรือยาขยัน บาร์บิตูและสิ่งเสพติดอื่นๆ

อาราธนาศีล 5

(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อๆ

คำสมาทาน ว่า

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )

คำสมาทาน ว่า

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)
อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)
กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)
มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)
สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )

ประโยชน์ของศีล 5

ศีล 5 นั้น มีประโยชน์โดยรวม 2 ด้านคือ

1.) เพื่อความสงบสุขของสังคม คือเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อันจะส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ความหวาดระแวง และความวุ่นวายในสังคม

2.) เพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ที่ถือศีลนั้นเอง เพราะศีล 5 นั้น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลส


การทำผิดศีลแต่ละครั้ง ก็คือการยอมให้กิเลสสามารถครอบงำจิตใจได้อย่างเต็มที่ จนถึงขั้นส่งผลให้มีการแสดงออกทางกายหรือทางวาจานั่นเอง ดังนั้น การทำผิดศีลแต่ละครั้ง จึงทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น ตามลักษณะของกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่นั้น ถ้ายิ่งทำผิดศีลมากครั้ง และบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งหยาบกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อจิตหยาบกระด้างขึ้น ก็ทำให้สามารถทำผิดได้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตหยาบกระด้างหนักขึ้นไปอีก เป็นวังวนพอกพูนไม่รู้จบสิ้น

ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไปนั้น คนเราจะไม่สามารถทำผิดได้ในขั้นที่หนักกว่าระดับความหยาบกระด้าง หรือระดับความประณีตของจิตที่เป็นอยู่ในขณะนั้น (ดูเรื่องลำดับขั้นของจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบ) เว้นแต่จะมีเหตุปัจจัย/สิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงมากๆ มาบีบคั้น เช่นคนที่เคยตบยุงอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยฆ่าสัตว์ที่ใหญ่กว่านั้นเลย จิตของเขาย่อมอยู่ในความประณีตระดับนั้น เขาย่อมสามารถตบยุงได้ ด้วยความรู้สึกที่ราบเรียบเป็นธรรมดา เพราะการกระทำนั้น อยู่ในขั้นที่ไม่หยาบเกินกว่าสภาพจิตปรกติของเขา

แต่ถ้าให้เขาไปฆ่าเป็ดฆ่าไก่ เขาย่อมจะรู้สึกว่าไม่อยากจะทำ และเมื่อถูกเหตุการณ์บีบบังคับ ทำให้เขาเลี่ยงไม่ได้ เขาย่อมจะทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องฝืนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่หยาบกว่าสภาพจิตปรกติของเขานั่นเอง และหลังจากนั้น เมื่อเขาต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่อีก เป็นครั้งที่ 2, 3, 4, ...... เขาย่อมจะสามารถทำได้ ด้วยความรู้สึกที่ฝืนใจน้อยลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะไม่ต้องฝืนใจเลย เพราะจิตของเขาจะหยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่ทำลงไป ตั้งแต่ครั้งที่ 1, 2, 3, 4, ...... แล้วหลังจากนั้น เขาก็ย่อมที่จะฆ่าสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามวังวนเช่นเดียวกันนี้

ผู้ดำเนินการเคยฟังคำให้สัมภาษณ์ของอดีตมือปืนรับจ้าง ได้ความว่ามือปืนโดยทั่วไปนั้น เมื่อต้องฆ่าคนครั้งแรก จะทำไปด้วยความรู้สึกที่ต้องฝืนใจ และทำใจได้ยากลำบากมาก และหลังจากทำงานครั้งแรกนั้นสำเร็จแล้ว ก็จะรู้สึกแย่อยู่หลายวันกว่าจะสงบลงได้ แต่พอทำครั้งที่ 2, 3, 4, 5 ก็จะทำได้โดยสะดวกใจขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งประมาณครั้งที่ 6 หรือ 7 ก็จะทำได้ด้วยความรู้สึกที่ราบเรียบเป็นปรกติ

ไม่เฉพาะการทำผิดศีลข้อแรก คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเท่านั้นที่อยู่ในวังวนแบบนี้ การทำผิดศีลข้ออื่นๆ ก็หนีไม่พ้นวังวนนี้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้คนที่ผิดศีลนั้น มีจิตใจที่หยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้เขาต้องห่างไกลจากความสุขอันประณีต ละเอียดอ่อนออกไปทุกที ต้องอยู่กับสภาพจิตที่เร่าร้อน หยาบกระด้างขึ้นทุกขณะ

ครั้นพอได้มีโอกาสมารักษาศีล กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นจึงครอบงำจิตใจได้น้อยลง เพราะถูกบังคับ ควบคุมไว้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แผลงฤทธิ์รุนแรงจนถึงขั้นแสดงตัวออกมาทางกาย หรือทางวาจา กิเลสจึงมีกำลังอ่อนลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ

เช่นคนที่เคยฆ่าเป็ดฆ่าไก่อยู่เป็นประจำนั้น ถ้าเขาว่างเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นเวลานานๆ ครั้นต่อมาเขาต้องกลับไปฆ่าเป็ดฆ่าไก่อีก เขาก็ย่อมจะทำได้ด้วยความรู้สึกที่ยากลำบาก ต้องฝืนใจมากกว่าในครั้งสุดท้ายที่เขาเคยทำมา ทั้งนี้ก็เพราะ จิตใจของเขาเริ่มประณีตขึ้นมาแล้วนั่นเอง


การถือศีลแต่ละข้อนั้น จะส่งผลให้เกิดการขัดเกลา การปรับปรุงพัฒนาจิต ในทิศทางที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิเลสที่คอยบงการให้การกระทำผิดศีลข้อนั้นๆ เกิดขึ้น ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1.) การฆ่าสัตว์ กิเลสตัวหลักที่คอยบงการก็คือโทสะ (ความโกรธ) คือความไม่พอใจในสัตว์ที่ถูกฆ่านั้น กิเลสตัวรองก็คือโลภะ (ความโลภ) เพราะบางคนฆ่าสัตว์เนื่องจากความโลภเข้าครอบงำ เช่น อยากได้เงินค่าจ้าง ต้องการสัตว์นั้นมาเป็นอาหาร ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตนจึงฆ่าสัตว์เพื่อปกป้องทรัพย์นั้น เพื่อให้คนยอมรับในความกล้าหาญ หรือเพื่อลาภยศที่จะตามมาจึงฆ่าสัตว์ให้คนเห็น ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังอาจมีสาเหตุมาจากกิเลสที่เป็นบริวาร ของโทสะหรือโลภะอีกเช่น ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ความตระหนี่ ฯลฯ

2.) การลักทรัพย์ กิเลสตัวหลักที่คอยบงการคือโลภะ คือความอยากได้ในทรัพย์นั้น กิเลสตัวรองก็คือโทสะ เช่น บางคนลักทรัพย์เพราะความโกรธในตัวเจ้าของทรัพย์นั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ได้อยากได้ของสิ่งนั้นเลย ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความแข่งดี ฯลฯ

3.) การประพฤติผิดในกาม กิเลสตัวหลักที่คอยบงการคือโลภะ คือความยินดี พอใจในหญิง หรือชายนั้น กิเลสตัวรองคือโทสะ เช่น บางคนประพฤติผิดในกามเพราะความโกรธในคู่ของตน จึงทำเพื่อประชด หรือโกรธในผู้ที่หวงแหนคนที่เราประพฤติผิดด้วยนั้น หรืออาจจะโกรธในตัวคนที่เราล่วงเกินนั้นเองเลยก็ได้ จึงทำการล่วงเกินเพื่อให้คนคนนั้นเจ็บใจ หรือเป็นเพราะอารมณ์ไม่ดี จึงประพฤติผิดในกามเพื่อระบายความเครียด ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ทำไปเพื่อโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ

4.) การพูดปด กิเลสตัวหลักที่คอยบงการนั้น อาจเป็นโลภะ หรือโทสะก็ได้ เช่น บางคนโกหกหลอกลวง เพราะอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน บางคนโกหกเพราะความโกรธ เลยโกหกเพื่อให้คนที่ตนโกรธนั้นเดือดร้อน หรือได้รับความเสียหาย บางคนโกหกเพราะกลัวความผิด หรือกลัวความเดือดร้อนที่จะตามมาหากพูดความจริงออกไป ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ

5.) การดื่มน้ำเมา รวมถึงของมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลาย อันเป็นสาเหตุให้ขาดสติ ซึ่งจะทำให้เกิดการผิดศีลข้ออื่นๆ ตามมา เพราะสติเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะคอยรักษาคุณความดีทั้งหลายไว้ และป้องกัน รักษาจิตจากสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย กิเลสตัวหลักที่คอยบงการก็คือโลภะ คือความปรารถนาในความเพลิดเพลินยินดีอันเกิดจากการดื่ม หรือเสพนั้น กิเลสตัวรองคือโทสะ เช่น บางคนดื่มน้ำเมา หรือเสพสิ่งเสพติดเพราะความเครียด ความกังวลใจ ความทุกข์จากความผิดหวัง (สิ่งเหล่านี้จัดเป็นจิตในตระกูลโทสะ) ฯลฯ สาเหตุจากกิเลสที่เป็นบริวารก็เช่น ทำไปเพื่อโอ้อวด ความแข่งดี ฯลฯ


การที่การห้ามจิตเพื่อที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ในแต่ละครั้งนั้น จะเป็นการขัดเกลา หรือปรับสภาพจิต ให้ประณีตขึ้นจากความหยาบกระด้างของกิเลสตัวใด ก็ขึ้นกับว่ากิเลสที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ที่พยายามครอบงำจิตให้ทำผิดศีลข้อนั้นในครั้งนั้น เป็นกิเลสตัวใดนั่นเอง การห้ามจิตในครั้งนั้น ก็จะเป็นการป้องกันการพอกพูนขึ้นของกิเลสตัวนั้น และในระยะยาวก็จะทำให้กิเลสตัวนั้นๆ อ่อนกำลังลง แต่โดยรวมแล้วการห้ามจิตแต่ละครั้ง ก็ย่อมจะทำให้จิตประณีตขึ้นด้วยกันทั้งนั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือ จะไม่ทำให้จิตหยาบกระด้างมากขึ้นไปอีก